ว่าด้วยการอ่านหนังสือที่เสียหาย

เมธาวี โหละสุต

ในเว็บไซต์จะมีหนังสืออยู่คู่หนึ่งที่ผมขายเป็นแพคคู่ ตอนที่ผมให้น้องสาวของผมถ่ายรูปพวกเค้าเพื่อประชาสัมพันธ์ น้องถามอย่างไม่อ้อมค้อมว่า “พี่จะขายพวกนี้เหรอ? มันพังแล้วนะ”  คำถามของน้องสร้างความประหลาดใจให้ผมอยู่พอสมควร ผมบอกเธอว่าพี่จะขาย ก็สองเล่มนี้พี่อ่านจบแล้ว อีกอย่างร้านเราขายหนังสือมือสอง สภาพมันก็ต้องเก่าอยู่แล้วมั้ยนะ เธอคงขี้เกียจต่อล้อต่อเถียงกับผม จากนั้นก็ไปถ่ายรูปหนังสือมาให้ ซึ่งก็คือรูปที่อยู่ในโพสต์นี้แหละครับ 

ผมตั้งชื่อ bundle ชุดนี้ว่า Damaged Murakami หรือหนังสือของมุราคามิที่เสียหาย โดยให้เรทติ้งสภาพเล่มที่ 1 ดาว (Poor) หนังสือที่ได้รับเรทติ้งนี้คือหนังสือที่เก่ามาก หรือได้รับความเสียหายจน ชนิดที่ว่าเกินกว่าการกระทำของกาลเวลา ผมขอเล่าประว้ติของหนังสือทั้งสองเล่มให้ฟังนะครับว่าพวกเค้ามาอยู่กับผมได้ยังไง 

ผมได้นิยาย The Wind-Up Bird Chronicle  มาจากร้านขายหนังสือมือสองตรงซอยรามบุตรีใกล้กับถนนข้าวสาร ผมซื้อเค้ามาในราคา 120 บาท  เมื่อปี พ.ศ. 2549 ผมจำราคากับปีได้แม่น ก็มันยากที่จะหาหนังสือมือของมุราคามิที่หน้าปกสวย เล่มหนาเตอะในราคาที่ค่อนข้างยุติธรรม ผมนั่งอ่านเค้าจนจบที่ศาลาริมน้ำบริเวณคณะเศรษฐศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สมัยที่ผมเรียนป.โทอยู่ที่นั่น ผมพูดได้อย่างเต็มปากว่านิยายเรื่องนี้เป็นนิยายที่สนุกชิ้นหนึ่งของมุราคามิ ผมถึงขั้นไปตามอ่านบทวิจารณ์นิยายเล่มนี้ในฐานข้อมูลออนไลน์ของมหาวิทยาลัย ตอนนี้เล่มนี้มีอายุเกิน 30 ปีเข้าไปแล้ว 

อยากรู้ดีเทลที่น่าขำอีกอย่างมั้ยครับ? ผมมีหนังสือเล่มนี้ในสต็อคอยู่อีก 3 เล่ม ไม่รวมเล่มนี้นะครับ

ผมไม่เคยอ่านหนังสือที่ “ใหม่กว่า” เหล่านี้ ก็เพราะผมอ่านไปแล้วนี่ครับ ผมจะอ่านทำไมอีก แต่เหมือนจิตใต้สำนึกเรียกร้องให้ซื้อเล่มที่สภาพดีกว่ามาเก็บไว้ หมกมุ่นเสียจนต้องซื้อหนังสือที่ใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะเพราะจำไม่ได้ว่าตัวเองซื้อมาก่อนแล้ว 

ส่วน Colorless Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage ผมได้มาจากกระบะเลหลังจากร้านหนังสือมือสองเมื่อปี พ.ศ. 2561 ในราคา 100 บาท ตอนนั้นผมคิดว่านี่แพงไปเสียด้วยซ้ำ เพราะหน้าปกกับกระดาษสักสิบแผ่นแรกฉีกขาดไปแล้ว เหมือนเค้าผ่านเหตุการณ์เรือล่มหรืออะไรสักอย่างมาก่อน นั่นหมายความว่าเค้าเป็นหนังสือที่เนื้อหาบางส่วนขาดหายไป 

แต่ผมอยากอ่านเล่มนี้นี่ครับ เขาไม่ได้เสียหายจนอ่านไม่ได้ ส่วนที่หายไปผมก็หาอ่านออนไลน์ได้ ไม่ได้เป็นภาระอะไร อีกอย่างราคาปกที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Knopf เล่มใหม่สนนราคาอยู่ที่ 800 – 900 กว่าบาท ส่วนต่างที่ผมประหยัดได้หมายความว่าผมมีเงินอีกจำนวนหนึ่งที่ซื้อหนังสือมือสองได้อีกหลายเล่มอยู่ 

น้องสาวของผมเสนอในเวลาต่อมาว่าถ้ามีคนซื้อหนังสือที่ขาด ๆ ที่ถ่ายรูปไปเมื่อหลายวันก่อน ให้บอกเขา เขาจะห่อปกพลาสติกหรือกระดาษให้ เวลาคนซื้อไปอ่าน “มันจะได้ไม่ย่อยไปกับมือ” ผมก็เห็นด้วย เพราะความรู้สึกของการจับกระดาษที่เกือบจะเป็นขุยแล้ว ไม่ใช่ความรู้สึกที่โสภาเสียเท่าใด

การได้อยู่กับหนังสือมือสอง มือสาม หรือ pre-loved เป็นจำนวนมาก มันทำให้ผมคิดว่าราคา (price) ของหนังสือเหล่านี้คือเท่าไหร่กันแน่? แล้วราคานี่สัมพันธ์กับมูลค่า (value) มั้ย? หนังสือสองเล่มที่ผมยกตัวอย่างไปเป็นหนังสือที่ราคาไม่แพง ผมน่าจะเป็นเจ้าของมือที่สี่ของพวกเขาเป็นอย่างน้อย ผมตั้งราคาพวกเค้าไว้ที่คู่ละ 120 บาท เพื่อให้ราคากับมูลค่าสัมพันธ์กันในความรู้สึกของผู้บริโภค 

แน่นอนว่าผมก็ไปซื้อ Colorless Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage มือสองอีกเล่มมาเก็บไว้เหมือนกัน แต่รอบนี้มีเพียงแค่เล่มเดียว มันไม่ค่อยสนุกเมื่อเทียบกับ The Wind-Up Bird Chronicle

ผมพอจะตอบตัวเองได้ว่าหนังสือพวกนี้เป็นกระดาษสันกาวที่ราคาถูกเนื่องจากสภาพที่เสื่อมโทรมของพวกเขา แต่มีมูลค่าพอสมควรในเชิงการบันทึกประสบการณ์การใช้ชีวิต (lived experience) ของนักอ่าน ผมจำศาลาริมน้ำที่ท่าพระจันทร์ได้ ก็เพราะผมระลึกได้ว่าตัวเองเคยอ่าน  The Wind-Up Bird Chronicle  ที่นั่นหลังเลิกเรียน บางวันก็นั่งอ่านอยู่จนดึก “ฉันนั่งอ่าน  The Wind-Up Bird Chronicle ที่ท่าพระจันทร์” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำและตัวตนของผมไปแล้ว มันทำให้เรารู้ว่าหนังสือก็คือสิ่งของที่ไม่น่าจะสำคัญเท่ากับเรื่องเล่า 

ประสบการณ์ของการอ่าน Colorless Tsukuru Tazaki ก็เหมือนกันครับ ความเสียหายของเค้าทำให้ผมไม่ลังเลที่จะแบกเค้าไปทุกที่ ผมจับเค้าโยนใส่กระเป๋าเป้โดยที่ไม่ต้องมาคิดว่าเค้าจะยับมั้ย ถ้าเค้ายับไปกว่านี้ มันก็จะทำให้เค้าเท่ขึ้นไปอีกครับ “ความไม่สมบูรณ์” (imperfection) ของเค้าทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักอ่านกับหนังสือค่อนข้างจะราบรื่น ไม่ต้องมานั่งพะวงถึงสภาพของเขามากนัก 

อ้าว แล้วถ้ามันสำคัญขนาดนั้นจะขายมันไปทำไม? อยากปล่อยหนังสือที่ไม่มีราคาแล้วใช่มั้ย? 

อย่างที่เล่าไปครับ ผมมี “ก๊อปปี้” (ไม่รู้จะเรียกหนังสือที่ซื้อมาซ้ำว่าอะไรดี ยิ่งเล่มที่ซื้อซ้ำหลาย ๆ รอบ) ของสองเล่มนี้แล้ว เค้าอยู่กับผมเค้าก็เป็นแค่หนังสือที่ไม่มีคนอ่านครับ เป็นวัตถุไร้ความหมาย ผิดวัตถุประสงค์ที่พวกเค้าถูกออกแบบขึ้นมา การขายหรือการให้มันคือการสร้างความหมายให้กับวัตถุเหล่านั้นครับ 

มันจะมีหนังสือบางเล่มที่ผมไม่มีทางขายครับ ที่นึกได้เร็ว ๆ ตอนนี้เลยก็ คือ Ways of Going Home โดย Alejandro Zambra กับ The Notebook โดย Agota Kristoff เล่มแรกเพราะมันเป็นหนังสือที่ชวนให้คิดว่าบาดแผลของเผด็จการเป็นสิ่งที่ลืมได้ยาก ส่วนเล่มที่สองเพราะมันนิยายที่อ่านขณะอยู่ที่บ้านคุณยาย ตอนที่แกยังมีชีวิต เสียงและกลิ่นของ “บ้านแม่ริม” ที่ครอบครัวเราเรียกกันดูจะฝังอยู่ในนั้นเวลาที่เปิดหนังสือ

สองเล่มนี้ยังเป็นหนังสือที่ผมยังอ่าน และคิดถึงเสมอถ้าไม่ได้อ่านครับ สองเล่มนี้เป็นตัวอย่างของหนังสือที่มีมูลค่าสูง และประเมินราคาไม่ได้ครับ พวกเค้าจะยังคงเป็นหนังสือที่มีค่าอยู่ ตราบเท่าที่ผมยังอ่านเค้า ต่อให้เค้าจะเสียหายแค่ไหนก็ตาม

ท้ายที่สุดแล้ว นักอ่านก็เติมเต็มความเสียหายเหล่านั้น ได้ด้วยประสบการณ์ของการอ่านอยู่ดีครับ