Atlas Shrugged: ในวันที่เทพเจ้ายักไหล่

เมธาวี โหละสุต

ผมอยากกล่าวถึงงานของอาย แรนด์ (Ayd Rand) นักเขียนหญิงชาวอเมริกัน ผ่านบทความมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว  ผมเคยพูดถึงงานของเธอบ้างในรายวิชาว.341 วรรณกรรมอเมริกัน ที่ตัวเองรับผิดชอบสอนให้แก่ภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ในระดับปริญญาตรี ผมเริ่มสนใจงานของแรนด์น่าจะช่วงปี ค.ศ. 2015 ตอนนั้นผมเริ่มเบนเข็มจากการวิจัยวรรณคดีอเมริกัน (น่าตลกเนอะครับ ผมเป็นอาจารย์ที่สังกัด “วรรณคดีอังกฤษ” แต่แทบไม่มีความรู้ใด ๆ เกี่ยวกับวรรณกรรมของประเทศนี้เลย) มาสู่สื่อศึกษา     (Media Studies) ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสื่อที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมาคือสื่อดิจิทัล ความสนใจในการศึกษาวิจัยสื่อดิจิทัลนำพาผมไปสู่การศึกษาอุดมการณ์ทางการเมืองของซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ผมค่อนข้างแปลกใจอยู่มากที่นักพัฒนา นักประดิษฐ์ หรือนักลงทุนด้านเทคโนโลยี กล่าวว่างานเขียนของแรนด์ส่งอิทธิพลต่อความคิดของพวกเขา 

ยิ่งพอมาในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นปีที่โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง งานของแรนด์ รวมถึงพวกนักเขียนและนักคิดสายอนุรักษ์นิยม ได้ถูกนำกลับมาถกเถียงอีกครั้ง ทั้งในแวดวงคอนเทนต์ และวงการวิชาการ อย่างเช่น ข้อเสนอเรื่องทุนนิยมเทคโนโลยี (techno-capitalism) ของนักปรัชญาสายทุนนิยมสุดขั้วอย่างนิค แลนด์ (Nick Land)   ที่เสนอว่าระบบทางการเมืองที่จะเข้ามาแทนที่ประชาธิปไตย เพื่อให้ทุนนิยมมีความสมบูรณ์ก็คือ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) 

ดูเผิน ๆ ผลงานวรรณกรรมของนักเขียนหญิงอย่างแรนด์ ดูจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเท่าใดนัก จุดเชื่อมโยงระหว่างงานของแรนด์และแลนด์ ก็คือศรัทธาอย่างสุดขั้วต่อระบบทุนนิยม 

ผมขอเล่าเรื่องของอาย แรนด์ และนิยายชิ้นเอกเรื่อง Atlas Shrugged ให้ฟังนะครับ แรนด์ (1905 – 1982)  เป็นนักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย ที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ประเทศอเมริกาในปี ค.ศ. 1926 นั่นหมายความว่าแรนด์เป็นชาวรัสเซีย ที่มีประสบการณ์ตรงระหว่างการปฏิวัติรัสเซีย (The Russian Revolution) เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะส่งผลต่อความคิดทางปรัชญาของเธอไม่มากก็น้อย 

แรนด์ได้สร้างปรัชญาที่เธอเรียกว่า Objectivism (วัตถุพิสัย) ขึ้นมา แนวคิดดังกล่าวมีความเชื่อว่าความเป็นจริงดำรงอยู่ในโลกแห่งวัตถุ และมนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงแห่งโลกวัตถุนี้ได้ ผ่านความคิดและเหตุผลในระดับปัจเจกบุคคล ไม่ใช่อารมณ์หรือศรัทธา ซึ่งการอยู่บนเหตุและผลในโลกวัตถุสำหรับแรนด์นั้น ก็คือการที่ปัจเจกบุคคลที่ดำรงอยู่เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตน (self-interest) กรอบความคิดดังกล่าวส่งผลให้แรนด์สนับสนุนระบบทุนนิยมเสรี (laissez-faire capitalism) อย่างสุดขั้ว กลไกของตลาดเสรีคือเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถสร้างความสุขสมบูรณ์ให้แก่ตนเองได้  การให้ความสำคัญต่อเสรีภาพของปัจเจกบุคคลอย่างสุดขั้วทำให้เธอมองว่าการเสียสละเพื่อคนอื่น หรือการคาดหวังให้คนอื่นเสียสละเพื่อตนเอง เป็นศีลธรรมที่ผิดมหันต์ 

ถ้าเรานำแนวคิด Objectivism ของแรนด์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเล่น ๆ เราอาจมองว่าการบริษัทปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ได้กำไรเพิ่มขึ้นตลอดในช่วงห้าปีหลัง เป็นเรื่องที่ชอบธรรมและมีเหตุผล เพราะบริษัทจำเป็นต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพเงินเฟ้อ เพื่อให้มีกำไรเพิ่มมากขึ้นไปอีกในปีต่อไป การตัดสินใจของบริษัทหรือบอร์ดบริหารเป็นไปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตน ยิ่งไปกว่านั้น การที่บริษัทมีกำไรขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่เพราะปัญญาและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารหรอกหรือ?

ตัวอย่างแนวคิดวัตถุพิสัยข้างต้นเป็นหัวใจของ Atlas Shrugged หนึ่งในสองนิยายที่โด่งดังของแรนด์  อีกเล่มคือ The Fountainhead นิยายว่าด้วยการยืนหยัดในความคิดของตนเองของตัวเอกในฐานะสถาปนิก โดนัลด์ ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์ว่านิยายเรื่องนี้เป็นหนังสือที่เขาชอบ

แรนด์มักถูกวิจารณ์ว่าตัวละครของเธอช่างแบนเสียเหลือเกิน เป็น flat character ที่ทำหน้าที่เป็นภาพแทนของนายทุนที่ดี แรงงานที่เลว ผู้ชายที่กล้าตัดสินใจ และผู้หญิงที่อ่อนแอ ถ้าพูดในเชิงวรรณศิลป์แล้ว ข้อวิจารณ์เหล่านี้ยิ่งยากที่จะปฏิเสธ Atlas Shrugged เป็นนิยายที่ยาวและน่าเบื่อ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับนิยายขนาดยาวของนักเขียนที่มีฝีมืออย่าง Charlotte Bronte หรือ John Steinbeck มันยิ่งเป็นเรื่องประหลาดที่นิยายที่น่าเบื่อนี้กลายเป็นหนังสือในดวงใจของหลายคน

และนั่นก็รวมถึงผมในช่วงเวลาหนึ่ง

ผมแปลชื่อเรื่อง Atlas Shrugged เป็นภาษาไทยในแบบที่ตัวเองคิดว่าน่ารัก ว่า “ในวันที่เทพเจ้ายักไหล่” Atlas ในตำนานเทพกรีกคือไททันที่ถูกเทพเจ้าโอลิมเปียนลงโทษให้ต้องแบกท้องฟ้าเอาไว้ ไม่ให้สัมผัสกับพื้นโลก Atlas ในตำนานเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความอดทน  

ทีนี้ลองจินตนาการนะครับว่าถ้า Atlas “ยักไหล่” ไม่แยแสบทลงโทษนี้อีกต่อไป หายนะคงเกิดขึ้นกับมนุษย์ที่อยู่เบื้องล่างอย่างแน่แท้  แรนด์ใช้ภาพลักษณ์ของ Atlas ที่ไม่แยแสต่อหน้าที่กึ่งบทลงโทษของตนเอง ให้เป็นตัวแทนของเหล่านายทุนผู้ปราดเปรื่อง ที่ตัดสินใจรวมหัวกันไม่แยแสต่อสังคม 

Atlas Shrugged เล่าถึงอเมริกาในยุคดิสโทเปียที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการกระบวนการการผลิตของภาคเอกชน หรือพูดให้ถูกก็คือประเทศอเมริกาที่กลายเป็นรัฐสังคมนิยมแล้ว นิยายเรื่องนี้มีตัวละครจำนวนมาก ตัวละครหลักที่ดำเนินเส้นเรื่องคือ แด็กนี แทคการ์ด (Dagny Taggart) เธอเป็นรองประธานบริษัทเดินรถไฟ Taggart Transcontinental  ที่ต้องคอยต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจ สหภาพแรงงาน และการควบคุมของรัฐที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้บริษัทของเธอสามารถดำรงอยู่ได้ ตัวละครต่อมาคือแฮงค์ เรียเดน (Hank Rearden) ผู้เป็นเจ้าของบริษัท Rearden Steel  ที่คิดค้น “เหล็กเรียเดน” ที่ทนทานและมีน้ำหนักเบากว่าเหล็กปกติ แฮงค์มีความเชื่อว่าเหล็กที่บริษัทของเขาคิดค้นขึ้นจะปฏิวัติอุตสาหกรรม คู่พระนางทั้งสองร่วมมือกันต่อสู้กับการควบคุมที่เข้มข้นขึ้นของรัฐ เพื่อรักษาอิสระภาพและพัฒนาการผลิตเชิงอุตสาหกรรมของภาคเอกชน

นอกจากความขัดแย้งระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐแล้ว Atlas Shrugged ยังมีเส้นเรื่องหลักอีกเรื่องที่ดำเนินคู่กันไป คำถามที่ตัวละครพูดกันติดปากในเรื่องคือ “จอห์น ก้อลท์คือใคร?” (Who is John Galt?) แล้วเขาเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของเหล่านายทุนในเรื่องหรือไม่? ที่สำคัญจอห์น ก้อลท์ ต้องการอะไรจากแด็กนีและแฮงค์? 

ปริศนาเหล่านี้ผมขอทิ้งไว้ให้ผู้อ่านค้นพบกันเอาเองนะครับ แต่ผมพอบอกได้ว่าจอห์น ก้อลท์คือตัวละครที่สะท้อนปรัชญาของอาย แรนด์ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ส่วนที่น่าจะกินใจเหล่า tech bros / entrepreneurs / libertarians ที่สุดในนิยายก็น่าจะเป็นบทพูดของจอห์น ก้อลท์ในตอนท้ายเรื่อง ผมขออนุญาตยกบางส่วนมาเป็นน้ำจิ้มครับ  

“We have granted you everything you demanded of us, we who had always been the givers, but have only now understood it. We have no demands to present to you, no terms to bargain about, no compromise to reach. You have nothing to offer us. We do not need you.”

ก้อลท์ประกาศผ่านคลื่นวิทยุว่าเหล่านายทุนได้ทำทุกอย่างที่สังคมต้องการแล้ว พวกเขาคือผู้ให้ ณ ตอนนี้พวกเขาจะไม่เรียกร้องอะไรจากสังคมแล้ว เพราะ “พวกคุณให้อะไรพวกเราไม่ได้ พวกเราไม่ต้องการคุณ” คำพูดของก้อลท์เปรียบเสมือนท่วงท่าการยักไหล่ของไททัน ที่หันหน้าให้กับสังคมและชุมชนได้ เพราะพวกเขามีสติปัญญาและทุนทรัพย์มากกว่า 

แล้วเหตุใดเล่าพวกเขาจึงต้องแบ่งปันทรัพยากรเหล่านี้ให้แก่สังคมและรัฐที่ไม่เห็นค่าของพวกเขา? การแบ่งปันทำนองนี้มันช่างไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

เวลาผมอ่านบทพูดของจอห์น ก้อลท์ในช่วงหลังผมมักจินตนาการว่านายทุนอย่าง Elon Musk นี่แหละคือตัวละครตัวนี้

หากอ่าน Atlas Shrugged ผ่านเลนส์ของอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของแรงงาน และการอยู่ร่วมกันเป็นคอมมูน นิยายของแรนด์ก็ไม่ต่างอะไรกับโฆษณาชวนเชื่อที่ต่อต้านลัทธิสังคมนิยมหรือลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็นิยายของเธอเล่นบูชาเสรีภาพของปัจเจกบุคคลซะขนาดนั้น 

แต่การให้ความสำคัญกับเจตนารมณ์ของปัจเจกนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ Atlas Shrugged ยังคงมีพลังในหมู่อนุรักษ์นิยม เนื่องจากมันให้คำตอบที่ผู้อ่านสามารถกระทำได้ในระดับปัจเจกบุคคล ตัวละครของแรนด์ชี้ให้เห็นว่า agency ของปัจเจกที่เป็นอิสระคือแก่นสารของความเป็นมนุษย์ หน้าที่ของเราคือการตัดสินใจดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ด้วยหลักการและเหตุผล เรานี่แหละคือผู้กำหนดความเป็นไปของโลก จะเห็นได้ว่าปรัชญาของแรนด์แทบไม่แตะ “โครงสร้าง” ในเชิงนามธรรมเลยแม้แต่น้อย การยื่นความรับผิดชอบให้แก่ปัจเจกบุคคลในการไขว่คว้าหาเสรีภาพ และตัดสินใจด้วยเสรีภาพดังกล่าวในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง กลายเป็นอาวุธทางความคิดที่ปัจเจกสามารถลงมือปฏิบัติได้ โดยไม่ต้องรอการแก้ไขในระดับโครงสร้าง 

สุดท้าย ผมสรุปได้ว่าผมพอเห็นความน่าดึงดูดในปรัชญาของแรนด์ แม้ว่าผมจะไม่เชื่อในมันเลย (แด็กนี แฮงค์ และก้อลท์ พูดราวกับว่าทุนที่พวกเขาได้มานั้น ถูกเสกขึ้นมาจากสติปัญญาอันปราดเปรื่อง ทั้งที่ในความจริง แรงงานของแด็กนีนั่นแหละที่เป็นคนสร้างรางรถไฟ) แต่ในโลกที่ปัญหาต่าง ๆ ดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การลดลงของประชากร ช่องว่างทางเศรษฐกิจและชนชั้น ฯลฯ หากมนุษย์คนหนึ่งจะเชื่อว่าเขาสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ หรือ ”ยักไหล่“ เพื่อหนีปัญหาในนามของอิสระภาพของปัจเจกบุคคล

มันก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ผิดเสียทีเดียวก็เป็นได้