อย่างที่เห็นว่าผมไม่ค่อยได้เขียนหนังสือเท่าไหร่ งานเขียนที่ทำในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาจะมีแค่ธีสิสป.เอก ของตัวเอง กับงานนอกตามว่าจ้าง เหตุผลหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เขียนบทความ หรือแม้แต่ออกแบบเสื้อเหมือนแต่ก่อน เพราะผมปวดแขนมากครับ ตอนแรกคิดว่าตัวเองโชคดีที่ไม่เป็นออฟฟิศซินโดรมเหมือนเพื่อนอาจารย์คนอื่น ไม่ปวดหลัง ปวดบ่า ปวดคอ เหมือนที่ใครเขาเป็นกัน ดันมาปวดแขนชนิดที่ว่ายกแขนขึ้นไม่ค่อยไหว เพราะมันจะปวดเล็กน้อย เหตุที่ปวดก็มาจากการที่ผมชอบนอนพิมพ์งานบนเตียง เอาคอมวางไว้บนตัก บางวันอยู่ท่านั้น 8-10 ชม. ทำให้แขนทั้งสองข้างต้องอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ จนกล้ามเนื้อมัด ความเจ็บปวดนี่มันน่ารำคาญมาก ๆ จนกลัวการต้องเปิดคอมไปพักใหญ่่ ที่นั่งเขียนมาได้ยืดยาวนี่ก็เพราะมานั่งเก้าอี้พิมพ์กับโต๊ะให้ถูกหลังสรีรศาสตร์ละครับ
อีกสิ่งที่โผล่เข้ามาในสมองในช่วงที่แขนเหมือนจะใช้การไม่ได้คือ คนเราสามารถบาดเจ็บได้จากการเขียนหนังสืองั้นเหรอ? ผมเคยเจ็บข้อมือขวาจากการเล่นเกมมากเกินไป แต่การเจ็บแขนทั้งสองข้างจากการเขียนหนังสือกับการทำงานออกแบบนี่มันฟังดูตลกชะมัด ถ้ามองเป็นกีฬา ก็คงเหมือนพิชเชอร์ (pitcher) เบสบอลที่ปาบอลเป็นแสนครั้ง จนเกิดอาการบาดเจ็บ ส่วนผมก็เป็นนักกีฬาที่ไม่ดี เพราะลืมยืดเส้นยืดสายให้ถูกต้องก่อนลงสนาม
เพื่อนชาวกรีกที่เป็นนักเขียนเคยบอกผมว่า “writing is a muscle, to get better you have to write everyday and make it strong”. (การเขียนก็คือการใช้กล้ามเนื้อแบบหนึ่ง อยากเก่งก็ต้องใช้มันทุกวันให้แข็งแกร่ง) ทีนี้ ถ้าเราใช้กล้ามเนื้อของเรามากเกินไปหล่ะ? เราคือนักเขียนแล้วมั้ย? เพราะเราบาดเจ็บจากการเขียน? หรือเราเป็นนักอยากเขียนเพราะเราใช้กล้ามเนื้ออย่างไม่ถูกวิธี?
การใช้ความเจ็บปวดเป็นมาตรวัดไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดี และผมคิดว่าข้อเสนอของเพื่อนชาวกรีกน่าจะเอามาปรับให้เข้ากับจริตของตัวเองมากขึ้น ผมขอเสนอว่า writing is a sport, to get better you have to practice everyday until you are match fit to compete “การเขียนคือกีฬา ถ้าอยากเก่งขึ้นให้ฝึกซ้อมทุกวัน จนกว่ามีความฟิตพอที่จะลงสนามไปแข่ง” ที่อยากให้มันเป็นกีฬามากกว่า “กล้ามเนื้อ” ที่ถูกใช้ทุกวัน เพราะถ้าเรามองการเขียนเป็นกีฬา มุมมองในการเตรียมความพร้อมของร่างกายและสมองจะเปลี่ยนไปมาก การเป็นนักกีฬาที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่เอาแต่ซ้อม ต้องรู้จักพักให้เป็นด้วย ร่างกายถึงจะสมบูรณ์มากพอที่จะลงแข่ง
แข่งกับใคร? แข่งอย่างไร?
การแข่งขันของ “นักเขียน” ดูจะมีเพียงอย่างเดียวคือการเติมพื้นที่สีขาวให้เต็ม ไม่มีอะไรมากกว่านี้
อาจจะฟังดูทื่อ ๆ แต่สำหรับผมนี่คือความจริงที่น่าตื่นเต้นครับ ผมค้นพบว่าหลายครั้งเราอยากจะเชื่อเสียเหลือเกินว่านักเขียนและการเขียนสามารถจะเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้อ่าน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในระดับสังคมได้ การเติบโตมากับหนังสือและวัฒนธรรมการอ่านที่มีคุณภาพสอนเราว่านี่คือพรมลิขิตของนักเขียน แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น อุปสรรคที่คอยขวางผมอยู่เสมอ คือ ช่องว่างสีขาว ที่ผมเชื่อว่าถ้าฝึกฝนกล้ามเนื้อและฝีมือมากพอ ผมจะเอาชนะมันได้บ่อยขึ้นและง่ายขึ้น
อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมอยากมองการเขียนเป็นกีฬา ก็เพราะกีฬาหลายประเภทมันต้องเล่นเป็นทีมครับ การบอกว่าเราต้องออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อเราแข็งแกร่งขึ้นย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็แข็งแกร่งขึ้นเพื่อตัวเองอยู่ดี เราเขียนได้นานขึ้น ถี่ขึ้น มีเนื้อหาสาระมากขึ้น ก็เพราะเราอยากจะให้ “ผู้อ่าน” เห็นว่างานของเรามีคุณภาพ สายตาและการตัดสินของผู้อ่านกลายเป็นคู่แข่งของเรา ที่งอกออกมาจากความว่างเปล่าของกระดาษ
ในทางกลับกัน ถ้าหากผมหัดมองผู้อ่านเป็นทีม ที่มีบทบาทในการ “อ่านและเขียน” ร่วมกัน ผมเชื่อว่าความกดดันตรงนี้น่าจะหายไปได้ค่อนข้างมาก จะมาบอกว่าให้ไม่แคร์ผู้อ่านเลยก็ไม่ได้ ไม่งั้นผมก็ไม่รู้ว่าจะไปเขียนอะไรไปทำไม
ดังนั้น ถ้าท่านใดอ่านมาถึงตรงนี้ ผมขอบอกว่าเราอยู่ทีมเดียวกัน
และผมดีใจพอสมควรที่ได้ลงสนามอีกครั้ง หลังจากที่ร้างสนามไปนานครับ
เมธาวี โหละสุต