Turn Books

วันนี้อยากเล่าเรื่องที่น่าดีใจครับ หนังสือที่ผมคิดว่าไม่น่าจะขายได้กลับขายได้ซะงั้น ในความน่าดีใจนี้มันก็มีความสั่นคลอนทางตัวตนแฝงอยู่ครับ ขอแบ่งปันให้ฟังก็แล้วกันครับ

หนังสือกว่า 70% ของเว็บไซต์จะเป็นหนังสือเก่าเก็บของผมเองครับ ผมเริ่มอ่านหนังสือนิยายภาษาอังกฤษจากนิยายที่ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์คัท สองเล่มแรกที่ผมอ่านแล้วรู้สึก “สนุก” ยิ่งกว่าดูภาพเคลื่อนไหว คือ Fight Club โดย Chuck Palahniuk และ Trainspotting โดย Irvine Welsh ถ้ามองในมุมวิชาการ เราสามารถจัดหมวดนิยายพวกนี้ให้อยู่ใน “นิยายละเมิด” (transgressive fiction) ดังนั้นผมมักมองหาหนังสือแนวเดียวกันอ่าน ผมไปเจอนักเขียนอย่าง Toby Litt (Adventures in Capitalism) ที่เล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงตลกร้าย กับ Ryu Murakami (Almost Transparent Blue) ที่มีฉากโหด ๆ แฝงปรัชญาสูญนิยมที่เป็นที่นิยมยุคเ 90s – 2000s

ผมขายหนังสือของนักเขียนทั้งสองได้เกือบทุกเล่มในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกแปลกใจไม่น้อย

นักอ่านที่ซื้อ Almost Transparent Blue บอกว่าเธอตามหาหนังสือเล่มนี้มานาน หาจากเว็บไซต์ในอเมริกาก็ไม่มี หรือถ้ามีก็ติดเรื่องราคาค่าส่ง เธอสนใจหนังสือเล่มนี้เพราะไอดอลที่เธอหลงไหล แนะนำหนังสือเล่มนี้ เธอจึงอยากอ่านมันบ้าง การนำพานักอ่านให้พบกับหนังสือที่ตนเองต้องการถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งสำหรับคนขายหนังสือ

ผมไม่ได้สนทนาอะไรเพิ่มเติมกับนักอ่านที่ซื้อหนังสือของ Toby Litt และเล่มอื่น ๆ เพราะเค้าซื้อผ่านระบบของเว็บไซต์โดยตรง ถ้าท่านนี้กำลังอ่านบทความนี้อยู่ ผมก็ขอขอบคุณที่รับเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิตไปดูแลต่อ ผมอยู่กับพวกเขามาก็ร่วมจะยี่สิบปีแล้ว

“หนังสือที่เป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิต“ เป็นห้วงความคิดที่น่าฉงน

ผมผูกพันกับหนังสือไม่เพียงจากการได้อ่าน แต่เพราะผมเป็นเจ้าของพวกเขาเพียงผู้เดียวอยู่เกือบยี่สิบปี ถ้ามองย้อนไป ระยะเวลาที่หนังสือนอนอยู่เฉย ๆ ดูจะเป็นเรื่องของความเสียโอกาสเสียมากกว่า ด้วยเหตุนี้ มันเลยทำให้อดคิดไม่ได้ว่าโลกในอุดมคติของนักอ่านคงไม่มี “ร้านหนังสือมือสอง“ แบบ Turn : Books อยู่ เราควรถูกแทนที่ด้วยห้องสมุด หรือพื้นที่ที่เป็นสาธารณะมากกว่า หนังสือเก่าเก็บพวกนี้อาจเป็นวัตถุที่ถูกอ่านได้เร็วกว่านี้ จะเป็นในรูปแบบตัวอาคาร หรือคลังหนังสือออนไลน์ก็ได้

แน่นอนว่าถ้าห้องสมุดกับระบบคลังหนังสือ/ข้อมูลมีประสิทธิภาพและจำนวนที่มากกว่านี้ ”คลังหนังสือที่แสวงหากำไร“ (มันยากจะปฏิเสธครับว่านี่แหละคือตัวตนที่แท้จริงของร้านหนังสือมือสอง) อาจจะไม่มีอยู่ในโลก หนังสือที่เหลือจากการซื้อขาย อาจถูกกระจายไปสู่คลังหนังสือที่ง่ายต่อการเข้าถึงของสาธารณชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การกระจายตัวของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพอาจจะส่งผลให้วัฒนธรรมการอ่านคึกคักกว่าปัจจุบัน

แล้ว Turn หรือร้านหนังสือมือสองอื่น ๆ เป็นปรสิตที่หากินกับความล้มเหลวของโครงสร้างการกระจายความรู้? นัยหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าใช่ การทำงานเราแทบจะไม่แตกต่างอะไรเลยกับห้องสมุดที่คัดเลือกและรักษาหนังสือ ความแตกต่างอย่างเดียวที่มีคือเราตักตวงผลกำไรจากนักอ่าน

กระบวนการที่อาจจะทำให้ร้านหนังสือแบบเราก้าวข้าม imposter syndrome นี้ไปได้ คือ การให้ข้อมูลเชิงเมตาเดต้า (metadata – ข้อมูลประกอบข้อมูลหลัก) ผ่านการคัดสรรหนังสือให้แก่ผู้อ่าน การคัดสรรหนังสือตามหมวดหมู่ ตามประเด็น ตามเนื้อเรื่อง หรือแม้แต่การออกแบบรูปเล่ม เป็นทั้งการจัดการกับสต๊อกสินค้าและการแสดงออกถึงตัวตนของผู้อ่าน เนื่องจากไม่มีร้านหนังสือใดในโลกที่สามารถ curate หนังสือที่ตนเองมีทั้งหมดออกเป็นหมวดหมู่ย่อย ๆ ได้ตลอดเวลาด้วยพื้นที่ที่จำกัด การคัดสรรค์หนังสือของร้านแต่ละร้าน ห้องสมุดแต่ละแห่ง ในช่วงเทศกาล หรือตามประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เปรียบเสมือนการสร้าง “บรรณานุกรมสาธารณะ“ (public bibliography) ที่อย่างน้อยช่วยให้นักอ่านเห็นว่ามีองค์ความรู้ใดที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ

หน้าที่ของบรรณานุกรมสาธารณะที่ผ่านการคัดสรรโดยมนุษย์เจ้าของร้านหนังสือ หรือภัณฑารักษ์ของห้องสมุด คือการเป็นประจักษ์พยานว่าหนังสือเป็นวัตถุที่รอการอ่าน (an object to be read) จะด้วยความเพลิดเพลินหรือความทรมานก็แล้วแต่บุคคลนั้น

นักอ่านที่เข้ามาใช้เว็บในวันนี้คงจะเห็นว่าเราได้เอารูปภาพและโปรโมชันกระตุ้นการขายออก (แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ลดราคาหนังสือเลยนะครับ) แล้วแทนที่ด้วยการพาดหัวที่คล้ายกับหนังสือพิมพ์แทน ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในเวลานี้ คือ การออกแบบปกหนังสือ ในมิติของการที่สำนักพิมพ์มีรูปแบบสำเร็จ (template) ที่เป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เทมเพลตเหล่านี้มีศาสตร์และศิลป์อยู่เบื้องหลังที่ผมคิดว่าน่านำมาแบ่งปัน โดยศิลปินออกแบบปกที่ผมติดตามผลงานอยู่ตลอด คือ ชิป คิด (Chip Kidd) กราฟฟิกดีไซเนอร์ชาวอเมริกันเจ้าของผลงานปกหนังสืออันเป็นเอกลักษณ์หลายชิ้น คำถามสุดท้ายที่ผมถามตัวเองในประเด็นดังกล่าว คือ ผมรู้จักตัวละครที่เป็นนักออกแบบหรือศิลปินในนิยายที่เคยอ่านหรือไม่? แล้วผมก็คัดสรรหนังสือที่มีตัวละครในประเด็นเดียวกันมาจัดหมวดหมู่ 

ผมหวังว่าการได้เห็นหนังสือในหมวด curated selections ผ่านตาไปบ้าง อย่างน้อยก็น่าทำให้นักอ่านอยากรู้จักชิป คิด ขึ้นมาบ้าง ถ้าท่านใดค้นชื่อและผลงานของเขาต่อไป ผมถือว่าการคัดสรรประเด็นนี้ได้ประสบความสำเร็จแล้ว

เมธาวี โหละสุต

Shopping cart close